พันธมิตรใหม่ Korea Shipping Partnership

สายการเดินเรือเกาหลีหลายราย คาดรวมตัวกันภายใต้กลุ่มพันธมิตรใหม่ Korea Shipping Partnership

สมาคมเจ้าของเรือเกาหลี (KSA) และสำนักข่าวทางด้านโลจิสติกส์หลายแห่ง ได้รายงานเกี่ยวกับการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรระหว่างสายการเดินเรือและเจ้าของเรือขนส่งสินค้าสัญชาติเกาหลีใต้จำนวน 14 ราย

โดยการรวมตัวกันของกลุ่มสายการเดินเรือสัญชาติเกาหลีในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการให้บริการในเส้นทาง intra-Asia โดยเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่ากลุ่มว่า Korea Shipping Partnership หรือกลุ่มพันธมิตรสายการเดินเรือแห่งเกาหลี ซึ่งบริษัทสมาชิกทั้งหมดมีกำหนดการณ์ในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ สมาชิกของกลุ่มพันธมิตรสายการเดินเรือและเจ้าของเรือสัญชาติเกาหลีใต้ ทั้ง 14 บริษัท ประกอบด้วย สายการเดินเรือ Hyundai Merchant Marine (HMM), SM Line Corporation, Heung-A Shipping, Sinokor Merchant Marine, CK Line, Korea Marine Transport Co., Ltd (KMTC), Pan Ocean, Pan-Continental Shipping, Namsung Shipping และ Dongjin Shipping

Mr. Kim Young-moo

การเข้ารวมกลุ่มพันธมิตรของสายการเดินเรือและเจ้าของเรือทั้ง 14 ราย ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการล้มละลายของสายการเดินเรือ Hanjin Shipping เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก สายการเดินเรือสัญชาติเกาหลีทั้งหมดจึงตัดสินใจร่วมมือกันเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน โดยการใช้พื้นที่ระวางสินค้าร่วมกัน การปรึกษาหารือกัน และร่วมกันบริหารจัดการเส้นทางเดินเรือ รวมไปถึงการบริหารจัดการสินทรัพย์ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ คาดว่า หลังจากบรรลุข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2018 ที่จะถึงนี้ สายการเดินเรือสมาชิกทั้งหมดจะยุติการเดินเรือในเส้นทาง intra-Asia ของตนเองทั้งหมด ก่อนที่จะเริ่มให้บริการ intra-Asia ร่วมกันภายใต้กลุ่มความร่วมมือใหม่ต่อไป

รองประธาน สมาคมเจ้าของเรือเกาหลี (KSA) กล่าวว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่ทุกสายการเดินเรือและบริษัทเจ้าของเรือได้ร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ เราวางแผนที่จะต่อยอดการเติบโตและกอบกู้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของเรา ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”

การรวมตัวกันของสายเรือ

สืบเนื่องจากแนวโน้มการรวมตัวกันของสายเรือในปัจจุบัน ทั้ง P3 (Maersk, CMA CGM, MSC) G6 (NYK Line, Hapag-Lloyd, OOCL, APL, Hyundai, MOL) และ CKYH (Cosco, K Line, Yang Ming, Hanjin) โดยสายเดินเรืออ้างว่าวัตถุประสงค์ของการรวมตัวก็เพื่อช่วยให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ลดต้นทุนการบริหารจัดการ เกิดการประหยัดต้นทุนต่อหน่วย อีกทั้งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการให้บริการให้แก่ลูกค้า โดยการรวมตัวกันดังกล่าวจะไม่รวมถึงกิจกรรมทางด้านการตลาด การให้บริการ การขาย และอัตราค่าระวาง เพราะถือเป็นความลับและกลยุทธ์ด้านการขายที่แต่ละสายเรือจะกำหนดเอง
ผู้ส่งออกทั่วโลกต่างแสดงความกังวลต่อรูปแบบการรวมตัวของสายเรือทั้งหลายเหล่านี้ ว่าจะเป็นการลดการแข่งขันของสายเรือ เกิดการผูกขาดในการแข่งขัน สายเรือขนาดเล็กต้องออกจากตลาดเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ ความถี่ตารางเรือสำหรับให้บริการมีลดลง และค่าระวางอาจปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต
จากการพิจารณาของ The U.S. Federal Maritime Commission (FMC) ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 พบว่าเสียงโหวด 4 ต่อ 1 เสียงให้การอนุมัติการรวมตัวกันของ P3 Network ให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2557 แต่การอนุมัติดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าให้ทั้งสามสายเรือดังกล่าวต้องมีการรายงานการดำเนินงานให้ FMC ทราบอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้ Monitoring Program/Conditions เพื่อให้ FMC สามารถเข้าไปดูแลจัดการการรวมตัวกันดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และควบคุมให้การดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบการแข่งขันในตลาดอย่างเหมาะสม โดยหากทั้ง 3 สายเรือมีการยกเลิกตารางให้บริการเดินเรือ หรือปรับการให้บริการอื่นๆ ที่ส่งผลต่อปริมาณระวางเรือที่ให้บริการในแต่ละสัปดาห์ จะต้องมีการแจ้งให้ FMC รับทราบทันที นอกจากนี้เพื่อให้การรวมตัวกันดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานภายนอกหรือบุคคลที่สาม (Third Party) การเจรจาต่อรองติดต่อ หรือทำสัญญากับ Third Party เหล่านั้น จะต้องทำโดยอิสระในแต่ละสายเรือ แยกออกจากกัน
เช่นเดียวกับการอนุมัติให้สามารถรวมตัวกันได้ของสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้ เนื่องจาก P3 มิได้ถูกมองว่าเป็นการควบควมกิจการ (Merger) เป็นเพียงการรวมตัวกันในด้านการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน ดังนั้นจึงสามารถมีผลบังคับใช้ได้ทันที เพียงแต่มีเงื่อนไขขอให้แก้ไขในรายละเอียดบางส่วน เนื่องจากส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมเกินกว่าร้อยละ 30 อย่างไรก็ตามหากพบว่าการรวมตัวกันดังกล่าวละเมิดตามมาตรา 101 ของ The Treaty on the Functioning of the EU ผู้ควบคุมกฎหรือผู้มีอำนาจของสหภาพยุโรปสามารถเลิกล้มการอนุญาตรวมตัวกันของสายเรือดังกล่าวได้

สำหรับในประเทศจีนที่ต่อต้านการรวมตัวกันในรูปแบบ P3 Network เนื่องจากจะเป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของสายเรือสัญชาติจีน อย่างเช่น Cosco หรือ China Shipping แต่ล่าสุดพบว่ามีความพยายามกดดันโดยรัฐบาลกลางของประเทศจีน ให้สายเรือสัญชาติจีนทั้ง 2 ขยายความร่วมมือกับสายเรืออื่นๆ เพื่อให้เป็นสายเรือที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดในสภาวะปัจจุบันเช่นเดียวกัน
The Global Shippers’ Forum (GSF) ให้ความคิดเห็นว่าการบังคับใช้ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน (Competition Law) ของสหภาพยุโรปไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มสายเรือคอนเทนเนอร์ เนื่องจากสายเรือมีอิสระ ได้รับการยกเว้นเหนือกฎหมายการแข่งขันของสหภาพยุโรป ซึ่งสายเรือที่รวมตัวดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ไม่เพียงแค่การให้บริการในเส้นทางยุโรป แต่ยังรวมถึงการให้บริการในภูมิภาคที่เป็นคู่ค้ากับสหภาพยุโรปอีกด้วย โดยเฉพาะเส้นทาง Asia-Europe และ Trans-Atlantic ที่ทั้ง 3 สายเรือในกลุ่ม P3 ครองส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 42 ในทั้งสองเส้นทาง
สำหรับการรวมตัวกันของสายเรือ 6 สาย ภายใต้ชื่อ G6 ประกอบไปด้วย NYK Line, Hapag-Lloyd, OOCL, APL, Hyundai และ MOL ล่าสุดพบว่าการรวมตัวกันดังกล่าวผ่านการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์โดย FMC ในสหรัฐอเมริกาแล้ว เนื่องจากพิสูจน์ด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Analysis) แล้วว่ามิได้ส่งผลต่อการลดระดับการแข่งขัน ลดคุณภาพการให้บริการ หรือเพิ่มต้นทุนการขนส่งสินค้า อีกทั้งในแง่ของกฎหมายการรวมตัวกันดังกล่าวก็มิได้ฝ่าฝืน US Shipping Act ของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ซึ่งจากการอนุมัติของ FMC ส่งผลให้สายเรือในกลุ่ม G6 สามารถพัฒนาความมีประสิทธิภาพทางด้านต้นทุนและการใช้พลังงาน รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในแง่การลดการการปล่อยของเสียลงได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้การรวมตัวกันของ G6 จะได้รับการอนุมัติ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ FMC อย่างใกล้ชิดให้อยู่ภายใต้กรอบการแข่งขันที่เหมาะสมเช่นเดียวกับ P3


นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ยังเกิดการควบรวมกิจการ (Merger) ระหว่าง Hapag-Lloyd ของเยอรมนี (ร้อยละ 70) และ Compania Sud-Americana Vapores: CSAV ของชิลี (ร้อยละ 30) ซึ่งการรวมตัวกันดังกล่าวจะทำให้ HL-CSAV เป็นสายเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีระวางเรือกว่า 1 ล้าน TEU ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 25 ในเส้นทาง Trans-Atlantic ร้อยละ 12 ในตลาดทวีปอเมริกาใต้ ร้อยละ 7 สำหรับเส้นทาง Trans-Pacific และร้อยละ 4 สำหรับเส้นทาง Asia-Europe อย่างไรก็ตามมีผู้ให้ข้อเสนอว่า HL-CSAV มิได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของส่วนแบ่งการตลาด และลดระดับการแข่งขันในตลาด เนื่องจากทั้ง 2 สายเรืออยู่ใน 5 อันดับแรกของเส้นทางดังกล่าวอยู่แล้ว แต่มีการคาดว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกับการรวมตัวกันในอุตสาหกรรมสายเรือคอนเทนเนอร์ในปัจจุบัน อาทิเช่น P3 G6 และ CKYH ได้มากยิ่งขึ้น

One Belt One Road

การขุดคอคอดกระเป็นทางลัดในการเดินทะเล เกือบจะกลายเป็นตำนานที่ไม่มีวันเป็นจริงได้สำหรับเมืองไทย แต่ล่าสุดมีการประเมินกันว่าคลองกระอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็ค เส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเลของจีน

The Diplomat เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศระดับโลก เผยแพร่บทความที่กล่าวถึงประเด็นการขุดคอคอดกระ หรือ “คลองกระ” ซึ่งเดิมเคยมีความพยายามมาอย่างยาวนานที่จะขุดคลองลัดระหว่างทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย เพื่อร่นระยะเวลาการเดินเรืออย่างมหาศาล แต่กลับไม่เคยมีใครทำสำเร็จ ตั้งแต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย เจ้าอาณานิคมอังกฤษ มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน แต่ล่าสุด มีแนวโน้มสูงว่าโครงการนี้จะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็คแห่งศตวรรษของจีน นั่นก็คือเส้นทางสายไหมใหม่

รู้จักเส้นทางสายไหมตามที่จีนวางแผนไว้ เส้นทางสายไหมจะแบ่งเป็น 2 สาย คือทางบก เป็นเส้นทางถนนและรถไฟจากภาคตะวันตกของจีน ตัดผ่านไปยังเอเชียกลาง สู่ยุโรป และเส้นทางสายไหมทางทะเล จากภาคตะวันออกของจีนลงใต้ผ่านอาเซียน ไปยังแอฟริกา ตะวันออกกลาง และวกขึ้นยุโรป ทำให้จีนเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อเศรษฐกิจโลก

จากแผนที่นี้ จีนจะได้ประโยชน์อย่างมากหากสามารถผลักดันคลองกระให้สำเร็จได้ เนื่องจากแทนที่จะต้องเดินเรืออ้อมไปผ่านช่องแคบมะละกาที่อากาศแปรปรวนและมีโจรสลัดชุกชุม ก็สามารถตัดตรงผ่านคลองกระไปยังทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียได้เลย

แม้รัฐบาลจีนจะไม่เคยยอมรับว่ากำลังผลักดันโครงการนี้อย่างเป็นทางการ แต่ The Diplomat รายงานว่าไทยและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MoU ในโครงการนี้ที่นครกวางโจวตั้งแต่ปี 2015 แต่ไทยก็พยายามหาเงินทุนจากหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และประเทศอื่นๆในอาเซียน และนับตั้งแต่ปี2017 สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน หรือ TCCEA และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ หรือ EABC ได้มีการจัดประชุมหารือเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการคลองกระ หรือคลองไทย และมีการประชุมล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มทหารระดับสูงที่สนับสนุนการขุดคลองกระ ก็ผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

มีการประเมินกันว่าโครงการคลองกระจะใช้งบประมาณราว 28,000 ล้านดอลาร์ หรือ 868,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างนาน 10 ปี โดยทางการจีนยินดีให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยีแก่ไทย เพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

โคลงการคลองไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนคลองที่เชื่อมต่อทะเลจีนใต้เข้ากับมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องผ่านเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดในโลกอย่างช่องแคบมะละกา ทำให้น้ำมันที่จะส่งเข้าไปในจีนกว่าร้อยละ 80 ซึ่งขนส่งผ่านช่องแคบดังกล่าว ใช้เวลาเดินทางน้อยลง หมายถึงต้นทุนที่ถูกลง ส่วนที่ 2 คือส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ประกอบด้วยเมืองและเกาะเทียมรายล้อมคลองไทย กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และเชื่อมโยงไทยเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคอีกหลายประการที่อาจทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจีนประเมินว่าโครงการนี้จะใหญ่โตไม่ต่างจากการสร้างเขื่อนสามผาในจีน ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านความมั่นคง ที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้การขุดคลองกระไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะเกรงว่าจะยิ่งสร้างความแตกแยกในจังหวัดภาคใต้ เพราะคลองนี้จะเปรียบเสมือนการแบ่งพื้นที่ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในภาคใต้